พระนารายณ์ มหาเทพชั้นผู้ใหญ่ผู้ปราบทุกข์เข็ญ

พระนารายณ์ เป็นพระนามของเป็นเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่เป็นหนึ่งในมหาเทพของอินเดีย ที่มีคติความเชื่อมายาวนานและมีอิทธิพลต่อความเชื่อความศรัทธาทางด้าน เทวคติและเป็นที่มาเป็นการสร้างสถาปัตยกรรม เทวรูป รูปเคารพ และศิลปะกรรม ตลอดจนคติความเชื่อในด้านการนับถือองค์เทพและพิธีกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นที่แพร่หลายเป็นอย่างมาก

ภาพวาด งานศิลป์ พระนารายณ์ ฉากบังเพลิงประดับพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9

พระนารายณ์ตามตำนาน ดั้งเดิมของฮินดูมีประวัติความเป็นมาดังนี้

พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ(Lord Vishnu) ถือเป็น หนึ่งในสาม ของมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ หรือที่เรียกว่า พระตรีมูรติ ตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ซึ่งประกอบด้วย 3 พระองค์คือ

ภาพวาดสีน้ำมันพระตรีมูรติแบบไทย เจ้าของภาพ อาจารย์นุ อาร์ทมงคล

1.พระพรหม(Lord Brahma) เชื่อว่าเป็นเทพเจ้าผู้สร้าง

2. พระนารายณ์(Lord Vishnu) เป็นเทพเจ้าผู้รักษา

3.พระอิศวร หรือ พระศิวะ(Lord Shiva) เป็นเทพเจ้าผู้ทำลาย

ตำนานการกำเนิดพระนารายณ์ของฮินดู

ในคัมภีย์โบราณ ในยุคยุคพระเวท ได้กล่าวถึงพระนารายณ์ ผู้ที่เป็นเทพเก่าแก่ของอินเดีย แต่เริ่มเดิมที เป็นหนึ่งในเทพแห่งแสงอาทิตย์ เป็นส่วนหนึ่งของแสงอาทิตย์ มีหน้าที่ก้าว ๓ ก้าว หรือที่เรียกว่า ตรีวิกรม คือ เป็นเทพแห่งอาทิตย์ตอนเช้า ตอนเที่ยงและตอนเย็น กลุ่มเทพแห่งแสงอาทิตย์ที่มีอยู่หลายองค์ เช่น สุริยเทพเป็นเทพแห่งแสงอาทิตย์ทั้งปวง สาวิตรีเทพแห่งแสงอาทิตย์สีทองยามเช้าและยามเย็น อุษาเทวีเทพแห่งรุ่งอรุณ เป็นต้น

ต่อมาในสมัยของ ยุคมหาภารตะและยุคปาณะ ความนิยมในการความเชื่อของพระนารายณ์ ได้เพิ่มมากขึ้น จนได้รับการย่องย่องให้เป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง ทรงได้รับการขนานนามว่า พระนารายณ์ หมายถึง ผู้เคลื่อนไหวในน้ำ

ประวัติของพระนารายณ์ตามตำนานฮินดู เป็นพระโอรสองค์สุดท้ายในบรรดาโอรส ๑๒ พระองค์ขอ งเทวีอทิติกับ ท้าวกัศปะเทพบิดร แต่บางตำนานในยุคหลังกล่าวว่าอุบัติขึ้นเอง บ้างก็ว่าพระศิวะสร้างขึ้น

สถานที่ประทับของพระนารายณ์เรียกว่า ไวกูณฐ์ มีลักษณะเป็นแผ่นทอง มีวิมานประดับด้วยแก้วอยู่กลางเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม บัลลังก์คือ พระยาอนันตนาคราช มีพระยาครุฑเป็นพาหนะ เวลาพระนารายณ์เสด็จไปในที่ๆต่างพระองค์จะทรงครุฑไป ที่เรียกว่า พระนารายณ์ทรงครุฑ

พระนารายณ์มีพระมเหสีคือ พระลักษมี หรือพระศรี เป็นเทพีแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร

อิทธิพลของคติความเชื่อเกี่ยวกับพระนารายณ์ในประเทศไทย

คติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าของไทยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดู สืบเนื่องมาจากจักรวรรดิขอม และอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ของไทย ในยุคโบราณ โดยอิทธิพลคติความเชื่อของศาสนาฮินดูได้ขยายมาสู่ดินแดนนี้ กว่า 1,000–2,000 ปี เริ่มแรกเดิมทีเรียกว่าศาสนาไสยะ แล้วเปลี่ยนชื่อไป เป็นศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นความเชื่อคตินิยมต่อการนับถือและการบูชามหาเทพ เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นที่พึ่งที่เคารพบูชา และมีคุณค่าต่อจิตใจ ต่อมาในยุค รัตนโกสินทร์ มีการการสร้างศาสนสถาน โดยมีคตินิยมสู่การสร้างศิลปะวัตถุ และสถาปัตยกรรม เช่นปราสาท ศิลปะขอมโบราณ มากมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคกลาง และภาคใต้ มีการสร้างรูปเคารพเทพเจ้า ของฮินดูมากมาย เช่น เทวรูปพระวิษณุ เทวรูปพระศิวะ เทวรูปพระพรหม เทวรูปพระคเณศ และเทวรูปพระอินทร์ เป็นต้น

รูปปั้นรูปเคารพ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นในยุคต่างๆ

นอกจากคติความเชื่อที่ผลต่อความเชื่อความศัทธาในการบูชาแล้ว ทางด้านคติความเชื่อด้านการปกครอง ของไทยยังได้รับอิทธิพลมาจากคติความเชื่อทางด้านเทพเจ้าของฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ได้มีคติความเชื่อที่เห็นเป็นเด่นชัดคือ ยุคอยุธยา ที่รับอิทธิพลความเชื่อนี้มาอย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่ากษัตริย์ผู้ปกครองมีสถานเป็นสมมุติเทพ ที่จุติลงมาเพื่อเป็นผู้นำหมู่ชน และมีคติความเชื่อว่า ผู้ที่ลงมาจุติเป็นพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเสื้อสายของพระนารายณ์ ที่อวตาลอุบัติลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญและนำความสงบสุขมาให้แก่หมู่ชน โดยอิทธิพลความเชื่อเรื่องพระนารายณ์นี้มี ยังมีผลต่อการตั้งชื่อของพระมหากษัตริย์ในยุคกรุงศรีอยุธยา ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งนำชื่อของพระนารายณ์มาตั้งเป็นพระนาม หรือแม้แต่สถานที่เก่าแก่โบราณที่เกี่ยวกับ สถานที่โบราณต่างๆล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากการบูชาพระนารายณ์ทั้งสิ้น

ทศาวตาร

คติความเชื่อเรื่อง “ทศาวตาร” มีที่มาจากคำคำว่า ทศ (dasha) ที่แปลว่า สิบ กับคำว่า อวตาร (avatara) ที่ประกอบขึ้นจากธาตุ ตฤ ที่แปลว่า ก้าวกับอุปสรรค อว ที่แปลว่า ลง รวมกันเรียกว่า อวตาร หมายถึงการก้าวลงหรือหยั่งลง โดยความหมายถึงพระผู้เป็นเจ้าเสด็จจากสรวงสรรค์ลงมาจุติสู่โลกมนุษย์ เพื่อปราบภัยพาญ ปราบยุคเข็ญ หรือกอบกู้โลกให้รอดพ้นความภัยอันตรายทั้งปวง

จะเห็นได้จากมหากาพย์รามายะนะ หรือรามเกียรติ์ที่เห็นบทบาทของพระนารายณ์ มหาเทพชั้นผู้ใหญ่ ที่อวตาลลงมาเป็นพระรามเพื่อปราบภัยจากยักษ์

ภาพวาด งานศิลป์ พระนารายณ์ ฉากบังเพลิงประดับพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9

อิทธิพลความเชื่อที่มีแสดงออกทางด้านศิลปะกรรมและปฏิมากรรม

ดังที่กล่าวมา อิทธิพลความเชื่อของพระนารายณ์ยังมีผลต่อการสร้างสรรค์งานปฏิมากรรม ของไทยมามากมายไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านสถาปัตยกรรมที่อิงความเชื่อและศาสนา และศิลปะกรรมภาพวาด หรืองานศิลปะเหล่าศิลปิน ก็มักจะนำรูปของพระนารายณ์มาสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสนอดังตัวอย่างเช่น

ปฏิมากรรม เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ

รูปเคารพของพระนารายณ์ จะทำเป็นเทพที่มีเศียรเดียว มี ๔ กร และทรงถืออาวุธหลายอย่าง อาวุธที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระนารายณ์ คือ จักร และสังข์ ซึ่งจะต้องถืออยู่เป็นประจำ ส่วนอีก ๒ กร อาจถืออาวุธอย่างอื่นแตกต่างกันไป เช่น คฑา ตรี ดอกบัว บ่วงบาศ ฯลฯ แต่ละอย่างก็มีประวัติความเป็นมาความหมายต่างกัน ดังนี้

ภาพวาด พระนารายณ์ ฉากบังเพลิงประดับพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9

จักร มีชื่อว่า วัชรนาถ หรือจักรสุทรรศน์ เป็นจักรที่พระเพลิงมอบให้เป็นอาวุธ บางตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นจากรัศมี และความร้อนแรงขององค์สุริยเทพ เป็นเครื่องหมายของดวงอาทิตย์และแทนวงโคจรของดวงอาทิตย์รอบจักรวาล

สังข์ มีชื่อว่า ปาญจะชันยะ มีประวัติเล่าว่าเดิมเป็นเปลือกหอยสังข์หุ้มกายอสูรชื่อ ปัญจชน ต่อมาได้ถูกพระกฤษณะฆ่าตาย จึงได้นำเปลือกสังข์มาใช้เป็นอาวุธ สังข์เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ เป็นอาวุธสำหรับขว้างไปทำลายส่วนที่เป็นหัวใจของศัตรูโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังใช้เป็นเครื่องเป่าเพื่อประกาศการเริ่มต้นของเหตุการณ์อันเป็นมงคล สามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้

คฑา มีชื่อว่า เกาโมทก หรือนันทา เป็นสิ่งที่พระเพลิงมอบให้พร้อมจักรวัชรนาถ ส่วนความหมายของคฑา หมายถึง ผู้คุ้มครอง สร้างระเบียบและลงโทษผู้ทำความชั่วร้ายโดยเฉพาะอสูรต่างๆ ซึ่งเป็นศัตรูของเทพเจ้า

ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของโลกและการสร้างโลก อย่างไรก็ตามบางครั้งพระนารายณ์จะถือวัตถุรูปกลมในฝ่ามือแทน คือ ภู หรือแผ่นดิน อันเป็นสัญลักษณ์ของโลกเช่นกัน

พระนารายณ์จะทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์ สวมมงกุฎ กลางพระอุระจะมีขน พระอุระเป็นเครื่องหมายศรีวัตสะ อันมีกำเนิดจากการกวนเกษียรสมุทรเป็นอิตถีพลังหรือศักติ โดยวิธีรวมตัวเป็นพระนารายณ์อย่างมหัศจรรย์ คือ แทรกตัวผ่านผิวหนังที่อุระข้างขวาเข้าไปสถิตอยู่ในหัวใจของพระนารายณ์ ตรงรอยแทรกเข้าไปนั้นเหลือปรากฏเป็นกลุ่มขนบนรอยปาน ในการสร้างรูปเคารพพระนารายณ์มักแสดงให้เห็นศรีวัตสะในรูปดอกไม้ ๔ กลีบ ทรงขนมเปียกปูน ส่วนผิวกายจะแตกต่างไปตามยุค ซึ่งยุคในเทพนิกายฮินดูได้แบ่งตามคุณงามความดีของมนุษย์ ดังนี้

๑. กฤดายุค (กฺริดา-) น. เป็นยุคที่มนุษย์ประกอบไปด้วยคุณงามความดี มีธรรมะสูงสุด คือ เต็ม ๔ ใน ๔ ส่วน และมีอายุยืนยาวที่สุด ยุคนี้มีอายุเท่ากับ ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีของโลกมนุษย์ พระนารายณ์ยุคนี้มีผิวกายสีขาว

๒. ไตรดายุค (ไตฺร-) น. เป็นยุคที่ความดีและความซื่อสัตย์ของมนุษย์เสื่อมลงเหลือ ๓ ใน ๔ ส่วนเมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค พระนารายณ์มีผิวกายเป็นสีแดง

๓. ทวาบรยุค (ทะวาบอระ-) น. เป็นยุคที่ความดีของมนุษย์เหลือเพียงครึ่งเดียว หรือเหลือเพียง ๒ ใน ๔ ส่วน เมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค พระนารายณ์มีผิวกายเป็นสีเหลือง

๔. กลียุค (กะลี-) น. เชื่อกันว่าเป็นวาระสุดท้ายของโลกเป็นยุคที่ศีลธรรมเสื่อม เป็นยุคที่ความดีของมนุษย์เหลือเพียง ๑ ใน ๔ ส่วน เมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค และอายุของมนุษย์ก็สั้นลงโดยไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ช่วงเวลาที่มีแต่ความรุนแรงเลวร้ายเกิดขึ้น พระนารายณ์ยุคนี้มีผิวกายสีดำ

ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรแบบบาแค็ง) กำหนดอายุ พุทธศตวรรษที่ ๑๕ หรือราว ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว สร้างขึ้นด้วยหินทราย ใช้เทคนิคการจำหลักหรือสลักด้วยเครื่องมือโลหะ ขนาด กว้าง ๘๕.๕ ซม. ยาว ๑๗๕ ซม. หนา ๒๐ ซม. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ได้รับมอบจากอำเภอปราสาท และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๗

ทับหลังในสถาปัตยกรรมขอม หมายถึง แท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางเหนือกรอบประตูสลักลวดลายภาพเล่าเรื่องทางศาสนา วรรณคดีเกี่ยวกับศาสนา ลายพวงมาลัย ลายใบไม้ เป็นต้น ลายที่ปรากฏบนทับหลังนี้สามารถนำมากำหนดอายุสถาปัตยกรรมได้

ทับหลังชิ้นนี้สลักลายเต็มแผ่น องค์ประกอบภาพแบ่งเป็น ๒ ส่วน มีแนวลายกลีบบัวเป็นเส้นแบ่ง ส่วนบนสุดสลักเป็นซ่องซุ้ม ๑๓ ช่อง มีรูปบุคคลประนมมือ ภาพปรากฏเพียงช่วงอก พื้นที่ตรงกลางสลักภาพพระนารายณ์สี่กรประทับนั่งมหาราชสีลาสนะ พระหัตถ์ขวาบนถือสังข์ พระหัตถ์ขวาล่างถือคฑา พระหัตถ์ซ้ายบนถือจักร พระหัตถ์ซ้ายล่างถือภู ทรงสวมชฎามงกุฎ ประทับนั่งบนไหล่ครุฑที่ยืนบนแท่นรูปกลีบบัวมือสองข้างของครุฑยุคหางนาค ๒ ตัวไว้ ลำตัวนาคสลักเป็นลายดอกไม้สี่กลีบทอดโค้งยาวตามแนวทับหลังทั้งสองข้าง นาคมี ๓ เศียรหันหน้าตรง เหนือลำตัวนาคเป็นลายใบไม้เต็มใบ ใต้ลำตัวนาคเป็นลายใบไม้ม้วน ส่วนล่างสุดของทับหลังเป็นลายกลีบบัวมีเกสร ลวดลายที่ปรากฏบนทับหลังมีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาแค็ง ได้แก่ ภาพคนโผล่ออกมาจากซุ้ม แนวลายกลีบบัว ครุฑใบหน้าคล้ายมนุษย์แต่มีจะงอยปาก มีปีก มีขาคล้ายขาสิงห์ ลักษณะจะงอยปากเป็นแบบที่ปรากฏมาแต่ศิลปะขอมแบบพะโค

เรียบเรียง โดย อาจารย์นุ เศรษฐี :

กรมศิลปากร

เครดิตที่มาข้อมูล กรมศิลปากร : https://www.finearts.go.th/main/view/24833-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B9

ศูนย์วิทยุจุฬา : https://curadio.chula.ac.th/

Leave a comment